วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

หญิงไทยในเวทีกีฬาโลก

 


   เมื่อจะเอ่ยถึงบุคลากรทางกีฬาในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ เชิดชูจากต่างประเทศ ชื่อแรกที่แว็บขึ้นมาในหัวของคนไทยก็คงจะเป็น คุณต็อบ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เจ้าของบริษัท คิงพาวเวอร์และประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เคยบริหารทีมจนเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของลีกระดับโลกอย่างพรีเมียร์ลีกมาแล้วในปี 2016 หรือจะเป็นเอฟ นครนายก เทพไชยา อุ่นหนู นักสนุกเกอร์ ชาวไทย อดีตแชมป์ ชู้ตเอาท์ 2019 ที่ตกรอบ 64 คนสุดท้าย ในศึก อิงลิช โอเพ่น ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ภายหลังจบรายการดังกล่าว คะแนนสะสมของเจ้าเอฟ พุ่งขึ้นมาสู่ ท็อป 16 ของ โลก ได้สำเร็จ จนได้รับเสียงชื่นชมจากคนไทยทั้งประเทศ และถ้าสุภาพบุรุษทั้ง2ท่านที่พวกเราได้เอ่ยไปเปรียบเสมือนกับ ซุปเปอร์แมน ในวงการกีฬาไทยละก็ วันนี้ทีมงาน SPC-X จะพาคุณไปรู้จักกับ วันเดอร์ วูแมน” หรือเหล่าสุภาพสตรีที่นอกจากจะมีหน้าตาอันสวยสดงดงามแล้วพวกเธอยังเปี่ยมล้นไปด้วยความสามารถในด้านกีฬาและเคยไปแสดงความสามารถให้คนทั้งโลกได้ชื่นชมมาแล้วซึ่งบางคนเคยได้ไปไกลถึงมือหนึ่งของโลกมาแล้วหรือแม้กระทั่งเคยทำให้คำพูดเพ้อฝันของคนไทยเป็นจริงได้ ถ้าคุณอยากรู้ว่าพวกเธอเป็นใครมาจากไหนแล้วละก็ทีมงาน SPC-X ขออาสาพาคุณไปรู้จักกับพวกเธอกันครับ!
    โดยสุภาพสตรีท่านแรกที่เราจะพาไปรู้จักก็คือ อดีตนักกอล์ฟสาวมือหนึ่งของโลกอย่าง โปรเม   เอรียา จุฑานุกาล โดยโปรเม เริ่มจับไม้เหล็กหวดสวิงตอนอายุ 5 ปี ติดทีมชาติกอล์ฟตั้งแต่ระดับประถมศึกษา  ตอนอายุ 9 ปี ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศจากการแข่งขันจูเนียร์เวิล์ด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  และตอน ม.6 ตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย มุ่งหน้าเทิร์นโปรเพื่อเป็นนักกอล์ฟอาชีพ และในปี 2016 ปีทองของเธอ เธอเดินหน้ากวาดแชมป์อีก 4 รางวัลคือ รายการ คิงส์มิลล์ แอลพีจีเอ แชมป์เปี้ยนชิพ, รายการ วอลวิค แชมป์เปี้ยนชิพ, รายการ ริโคห์ วีเสนส์ บริติช โอเพ่น และปิดท้ายที่ รายการ แคนาเดี้ยน แปซิฟิกวูแมน โอเพ่น จนเธอกลายเป็นนักกอล์ฟหญิงที่ทำเงินรางวัลสูงสุดของ LPGA ทำได้มากกว่า 80 ล้านบาทและได้รับรางวัลนักกอล์ฟยอดเยี่ยมแห่งปี Rolex Player Of The Year


        ซึ่งทำให้โปรเมกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศและเธอยังเป็นบุคคลที่ต่างประเทศต่างก็ยอมรับในฝีไม้ลายมือ โดยเธอมีเครื่องหมายการันตีก็คือ ภาพยนต์อัตชีวิตของเธออย่าง 


    โปรเม” อัจฉริยะต้องสร้าง โดยนี่ถือเป็นหนังอัตชีวประวัติของนักกีฬาเรื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย “เราสนใจเรื่องราวของโปรเม จากเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เขามุ่งมั่น ตั้งใจในกีฬากอล์ฟ ชีวิตผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งในวันที่ประสบความสำเร็จ จนถึงวันที่ชีวิตตกต่ำ และกลับมาผงาดอีกครั้งกับตำแหน่งนักกอล์ฟมือวางอันดับหนึ่งของโลก ผมและทีมงานจึงอยากทำภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ด้วยการลงมือทำ และตั้งใจ อัจฉริยะต้องสร้างเหมือนกับชีวิตโปรเม ที่จะได้ชมในภาพยนตร์เรื่องนี้” สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าว

    มาต่อกันที่คนที่สอง รัชนก อินทนนท์  " น้องเมย์"  เริ่มเล่นกีฬาแบดมินตัน เมื่ออายุได้ 6 ปี เนื่องจาก กมลา ทองกร เจ้าของโรงงานบ้านทองหยอด ซึ่งเป็นแม่บุญธรรมของน้องเมย์ เกรงว่าน้องเมย์จะวิ่งเล่นซุกซนภายในโรงงานจนเกิดอุบัติเหตุได้ จึงได้นำเธอมาหัดเล่นแบดมินตันตั้งแต่บัดนั้น หนึ่งปีต่อมาเธอได้ลงแข่งขันเป็นครั้งแรก ในรายการอุดรธานี โอเพ่น และได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรก

    วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 รัชนก อินทนนท์ สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันแบดมินตันโลกได้สำเร็จเป็นคนแรกของประเทศไทย และเป็นแชมป์โลกแบดมินตันที่มีอายุน้อยที่สุด รวมถึงในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556 รัชนก อินทนนท์ ได้ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลก จากการจัดอันดับของสหพันธ์แบดมินตันโลก

    " การจะก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งมันไม่ได้มีหลายคน ที่หนึ่งมันมีแค่คนเดียว แล้วถ้าวันหนึ่งเราพร้อมหรือมีโอกาสที่จะทำได้ก็ต้องทำให้เต็มที่" น้องเมย์กล่าว ด้วยวัย 25 ปี ในปัจจุบัน น้องเมย์ยังคงโลดเล่นอยู่ในเส้นทางลูกขนไก่  และยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมกับหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับไปอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพอีกครั้งให้ได้ 


    มาถึงคนสุดท้ายกันแล้ว พวกเราขออนุญาตเปลี่ยนบริบทจากนักกีฬามาเป็นผู้บริหารกันบ้าง และเธอก็คือ "นางฟ้าท่าเรือ" นวลพรรณ ล่ำซำ สำหรับ "มาดามแป้ง" นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการทีมการท่าเรือไทย เอฟซีแล้ว เธอยังนั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจประกันภัยของตระกูล ในฐานะของกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ทั้งยังเปิดกิจการของตัวเอง นำเข้าสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหลายแบรนด์ ผ่านทางบริษัท วรรณมานี จำกัด และบริษัท ซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด อีกด้วย

    โดยมาดามแป้งเคยสร้างประวติศาสตร์และเป็นเกียรติประวัติให้แก่ประทศ ด้วยการพาฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยไปฟุตบอลโลก 2 สมัย ติดต่อกัน คือ  จากปี 2015 ที่แคนาดา เป็นเจ้าภาพ จนมาถึงปี  2019 ที่ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ และถึงแม้ทั้ง2ครั้งที่ ทัพชบาแก้ว ไปลุยฟุตบอลโลกจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่เธอก็ทำให้คำว่า บอลไทยจะ ไปบอลโลก ไม่ใช่คำพูดเพ้อฝันอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ฟุตบอลหญิงก็ตาม "เธอไม่ได้ลงเล่นในสนามแม้แต่วินาทีเดียว เธอไม่ได้เป็นนักเตะ แต่นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคนหนึ่งในฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ เพราะเธอคือผู้จัดการทีมชาติไทยซึ่งได้รับการยกย่องจากการเป็นทีมที่สู้ไม่ถอยและเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี"นิวยอร์ค ไทมส์ ได้เขียนถึงมาดามแป้ง โดยหลังจากจบทัวร์นาเมนต์ที่ฝรั่งเศส เธอเองก็ได้ประกาศอำลาการทำหน้าที่ในทัพชบาแก้วหลังจากที่ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันเป็นเวลา12 ปีเต็ม เพื่อหันมาทุ่มเทให้กับทีมดังย่านคลองเตยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเธอเข้ามาบริหารทีมการท่าเรือ เอฟซี ในปี 2015 พร้อมกับได้ปลุกสิงห์ตัวนี้ให้กลับมาผงาดอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ ช้าง เอฟเอ คัพ 2019 พร้อมทั้งสถาปนามาเป็นทีมยักษ์ใหญ่ในวงการลูกหนังไทยยุคปัจจุบัน

    ซึ่งทั้งหมดที่เราได้พูดถึงไปก็คือ ฮีโร่ ในชีวิตจริงที่พวกเธอไม่มีพลังปล่อยลำแสงได้ ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ไม่สามารถต่อสู้กับสัตว์ประหลาดต่างดาวได้ แต่พวกเธอกลับได้รับการชื่นชมได้รับรอยยิ้มได้รับเสียงปรบมือจากคนไทยทั้งประเทศ เพราะพวกเธอได้สร้างความสุข ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเล็กๆ ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ด้วยความมุ่งมั่น ความขยันและความสามารถของพวกเธอทำให้พวกเธอก้าวข้ามจากระดับประเทศ ระดับดับทวีปและไปไกลถึงเวทีระดับโลก พร้อมทั้งให้คนทั้งโลกได้รู้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีดีแค่ ต้มยำกุ้งหรือสถานที่เที่ยวต่างๆ ประเทศเรายังมีบุคลากรทางกีฬาที่เก่งๆ อีกมากมาย ซึ่งทีมงาน SPC-X เชื่อเหลือเกินว่าถ้าวันใดวันนึงพวกเธอต้องพบกับความผิดหวัง ขอแค่ให้พวกเธอหันมา พวกเธอจะเจอกับคนอีก 60 กว่าล้านคนที่คอยซัพพอร์ต คอยเป็นกำลังใจให้ เหมือนที่พวกเธอเคยให้ความสุขแก่พวกเราเพราะพวกเธอได้เข้าไปอยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ขอบคุณภาพและข้อมูล

https://www.thaipost.net/

https://hilight.kapook.com

https://www.siamsporttalk.com

https://www.thairath.co.th

https://www.khobsanam.com

https://www.bbc.com







 








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น